ดู: 1133|ตอบกลับ: 0

รู้จักโรคใหม่จากโซเชียลมีเดีย “Snapchat dysmorphia”

[คัดลอกลิงก์]


Snapchat กลายเป็นแอปพลิเคชั่นแชทแถวหน้าของเหล่าอเมริกันชน โดยเฉพาะในหมู่คนดังวงการ Hollywood และวัยรุ่นยุโรปเป็นที่เรียบร้อยภายหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปี ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ Snapchat ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีผู้ใช้งานปัจจุบันกว่า 188 ล้านคน เพราะความเร้าใจในฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร แต่อย่างไรก็ตาม Dr.Neelam Vashi ผู้อำนวยการศูนย์ผิวพรรณ Boston University’s School of Medicine ได้เผยแพร่บทความทางการแพทย์ผ่านทาง JAMA Facial Plastic Surgery กล่าวถึงอาการ “Snapchat dysmorphia” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ “Snapchat” แล้วส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ใช้งานจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง



สำหรับสาเหตุที่เรียกชื่อว่า “Snapchat dysmorphia” นั้น เพราะ Snapchat เป็นหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากในสังคมสหรัฐฯ ผู้ใช้สามารถส่งต่อภาพหน้าตาที่ผ่านการปรับแต่งด้วยฟิลเตอร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตนเองดูดีขึ้น ซึ่งสำหรับบางคน การที่ได้เห็นรูปภาพของตนเองในแอปที่ดูดีมีเสน่ห์ กลับส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาที่แท้จริงของตนเอง หลายคนถึงขนาดตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรม เพื่อหวังจะให้ตนเองดูดีตามอย่างภาพในแอปเหล่านั้น

ทั้งนี้ ในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมใบหน้าโดยมากนั้น มักจะมีดาราหรือคนดังเป็นแบบอย่าง แต่ในระยะหลังเริ่มมีผู้เข้ารับการผ่าตัดอีกกลุ่มเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มนี้ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนใบหน้าตนเองให้เหมือนดาราหรือคนดัง หากแต่ต้องการจะผ่าตัดปรับเปลี่ยนใบหน้าของตนเองให้ใกล้เคียงใบหน้าของตนเองที่ผ่าน "การปรับแต่งด้วยฟิลเตอร์" แทน สอดคล้องกับงานวิจัยทางการแพทย์ก่อนหน้าเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กับสถิติการผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าพบว่า ผลจากความนิยมของการถ่ายรูป selfie นั้น ทำให้มีหลายคนเข้ารับการผ่าตัดใบหน้า เพื่อหวังว่าจะถ่ายรูป selfie แล้วออกมาดูดียิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน



นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม รพ.บางมด ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการศัลยกรรมตามใบหน้าตนเองในแอปพลิเคชั่นว่า “ภาพที่เกิดจากการตกแต่งด้วยฟิลเตอร์ในแอปพลิเคชั่น คือ เทคนิคการตกแต่งภาพที่มีความแตกต่างจากข้อเท็จจริง หรือหลักปฏิบัติจริงทางการแพทย์ที่สามารถทำได้ อีกทั้ง ในแต่ละบุคคลมีข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างของใบหน้า, ร่างกาย, ผิวหนังที่มีความหนา บาง หรือความยืดหยุ่นแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะทำได้จริง หรือไม่ได้จริง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำและแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรม คือ ควรเข้ารับการวิเคราะห์และรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้พอดี เหมาะสมตามลักษณะโครงสร้าง ไม่มากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เนื่องจากในความเป็นจริงโครงสร้างของมนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับเทคนิคการตกแต่งด้วยแอปพลิเคชั่น”

สุดท้าย นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล ได้ฝากข้อคิดที่ควรคำนึงถึงก่อนการทำศัลยกรรม นั่นคือ “ความปลอดภัย” โดย “ยิ่งทำน้อย ยิ่งปลอดภัย” เพราะการทำศัลยกรรมควรทำเฉพาะจุดที่มีปัญหาจริงๆ ทำให้น้อยที่สุด และตรงปัญหาที่สุด จึงจะได้รับผลดี และ “ยิ่งพอดี ยิ่งปลอดภัย” นั่นคือ อย่าต้องการทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติมากๆ เพราะโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนตามมา ควรทำให้พอดีกับโครงสร้างของแต่ละคน และ “ยิ่งเลือกเป็น ยิ่งปลอดภัย” คือ ควรรู้จักเลือก ได้แก่ เลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย, เลือกแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญและมากประสบการณ์, วัสดุอุปกรณ์ที่ดี เช่น ซิลิโคน ได้รับมาตรฐาน อย. US FDA เป็นต้น รวมถึง อย่าหลงเชื่อตามคำโฆษณา รีวิวต่างๆ มากจนเกินไป”

นอกจากนี้ บทความฉบับดังกล่าวยังเผยว่า Snapchat อาจเป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อสภาพทางจิต จนนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตจริงๆ อย่างหนึ่งที่เรียกว่า "โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ" หรือ "Body Dysmorphic Disorder (BDD)" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง โดยมีอาการย้ำคิด หมกมุ่นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ ทั้งที่ความจริงแล้วปกติ หรือใกล้เคียงปกติ หรือมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้ที่ webdungdong@gmail.com|บริษัท ดั้งโด่งดอทคอม จำกัด|ติดต่อลงโฆษณา| ดั้งโด่งดอทคอม@2020

Copyright © 2001-2013 Comsenz Inc.   All Rights Reserved. Powered by Discuz! X3.2 R20140618, Rev.27, Thzaa City 1 Style

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้