ดู: 1985|ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ธรรมชาติ นอกตู้กระจก

[คัดลอกลิงก์]
พอดีเห็นข่าวพบฝูงวาฬและโลมาบริเวณทะเล จ.เพชรบุรี
เลยเอาข้อมูลมาฝาก เผื่อเพื่อนๆสนใจจะไปดูของจริงที่ว่ายอยู่ในทะเล ไม่ใช่อยู่ในตู้

จากโพสต์ทูเดย์
"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่างภาพอิสระสามารถบันทึกภาพนิ่งฝูงปลาวาฬบรูด้ากำลังอ้าปากกินปลา
โดยมีเหล่านกนางนวลจำนวนมากบินวนอยู่รอบๆไว้ได้ในขณะที่เหมาเรือประมงออกไปยังกลางทะเลเพื่อไปเก็บภาพบรรยากาศและถ่ายภาพนกน้ำ
โดยนายสมพงษ์ได้นำภาพที่ถ่ายได้มาให้กับผู้สื่อข่าวได้ดู พร้อมกับแจ้งข้อมูลว่าพบปลาวาฬบรูด้าประมาณ 7-9 ตัว
ขึ้นอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่งทะเลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร
รวมถึงมีปลาโลมาหัวบาตรขึ้นอยู่ด้วยประมาณ 14 ตัว ที่ต่างขึ้นมากินปลาขนาดเล็กอยู่กลางทะเล
หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ดูภาพและทราบข้อมูลสถานที่ที่พบปลาวาฬบรูด้าและปลาโลมาหัวบาตรจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ซึ่งพบฝูงปลาวาฬบรูด้าจำนวนหลายตัวว่ายน้ำหากินอยู่บริเวณชายฝั่งระหว่าง ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม และ
ต.แหลมผักเบี้ย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งจุดที่พบอยู่ห่างจากชายฝั่ง 4 ไมล์ทะเล
โดยตัวใหญ่สุดพบมีขนาดความยาวถึง 14 เมตร น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 ตัน และยังพบวาฬบรูด้าขนาดกลางและเล็ก
เชื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน และสามารถถ่ายภาพได้อย่างใกล้ๆ โดยจุดที่พบมีระดับความลึกของน้ำเพียง 5-6 เมตรเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ชาวประมงพบเห็นวาฬบรูด้าเข้ามาว่ายน้ำหากินอยู่คราวละ 7 ตัว – 14 ตัว
และยังพบเห็นโลมาหัวบาตรว่ายน้ำหากินเป็นฝูงอยู่ใกล้ๆกันอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น
เพราะหากไม่มีฝูงปลาเล็กในพื้นที่นี้ปลาวาฬก็จะไม่เข้ามาเด็ดขาด โดยช่วงเวลาที่จะพบฝูงปลาวาฬบรูด้าคือช่วงน้ำขึ้น
มีฝูงปลาเล็กอยู่ใกล้ฝั่งจำนวนมาก ลมทะเลไม่แรงเกินไป และสภาพน้ำต้องดีด้วย"


จากข่าวสดออนไลน์
"เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวประมง ที่ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ว่า
มีฝูงวาฬบรูด้าและโลมาจำนวนหลายสิบตัวว่ายน้ำหากินอยู่บริเวณชายฝั่งต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม
ซึ่งจากการนั่งเรือออกไปสำรวจโดยนักดูนกกลุ่มหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ย. สามารถพบและถ่ายรูปวาฬบรูด้าได้อย่างใกล้ชิด
โดยดาราหน้ากล้อง เป็นวาฬแม่-ลูก ที่จะว่ายน้ำคลอเคลียกันตลอดเวลา และเวลาเสยปากขึ้นกินเหยื่อพวกปลากะตักหรือปลาไส้ตันก็จะลงมือพร้อมกัน
ขณะที่วาฬตัวอื่นๆ ก็ว่ายวนเวียนหากินในน่านน้ำเดียวกัน นับได้ประมาณ 10 ตัว โดยตัวที่ขึ้นเสยเหยื่อใกล้เรือที่สุด
ระยะประมาณ 15 เมตรเท่านั้น และขึ้นพร้อมกันถึง 3 ตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดวันเดียวกันนี้ เรือประมงของไต๋จรูญ จากปากแม่น้ำบางตะบูน
ก็ยังพานักท่องเที่ยวผู้สนใจไปบันทึกภาพวาฬบรูด้าอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม โดยมีการปรากฏตัวของวาฬตัวใหญ่ยักษ์ที่สุดในฝูง
บริเวณหลังมีลายก้นหอยเป็นตำหนิที่เห็นได้ชัดเจน เข้ามาลอยคอถึงข้างกราบเรือเลยทีเดียว"
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2010-9-29 12:54:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สำหรับวาฬบรูด้า หรือ Bryde's Whale จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Balaenoptera brydei
เป็นสัตว์เลือดอุ่นและเลี้ยงลูกด้วยนม โดยชื่อ บรูด้า นั้นมาจากการตั้งให้เป็นเกียรติแก่กงสุลชาวนอร์เวย์
ในประเทศแอฟริกาใต้ที่ชื่อ โยฮัน บรูด้า (Johan Bryde)

วาฬบรูด้าถูกจัดให้เป็นสัตว์ห้ามค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย และเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
ลักษณะทั่วไปของวาฬบรูด้า เป็นวาฬขนาดปานกลาง มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวของวาฬชนิดนี้สีเทาเข้ม
มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวก็มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว
เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ
ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำจะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่
ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา

ทั้งนี้จุดเด่นของวาฬบรูด้า คือครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง
ครีบคู่หน้ามีปลายแหลมและมีความยาวเป็น 10% ของความยาวลำตัว ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง
ซึ่งพาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจาก ปากบนมีจำนวน 250-370 แผ่น
แผ่นที่ยาวที่สุดยาว 60 เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ

วาฬบรูด้า เมื่อโตเต็มที่จะยาว 14 – 15.5 เมตร หนัก 20 – 25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง
เนื่องจากวาฬบรูด้า เป็นวาฬชนิดไม่มีฟันแต่มีบาลีน เป็นแผ่นกรองคล้ายหวี สีเทา 250 – 370 ซี่
ใช้กรองแพลงก์ตอนและฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาหมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น
พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้
ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี
วาฬบรูด้าจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัวทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน
ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร วาฬบรูด้าอายุยืนถึง 50 ปี
เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ







3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2010-9-29 12:54:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนสัตว์อีกชนิดคือโลมาอิระวดี หรือ Ayeyarwaddy Dolphin เป็นโลมาชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Delphinidae
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orcaella brevirostris มีลักษณะคล้ายกับวาฬ Delphinapterus leucas
มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวาฬนักล่า Orcinus orca ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ
สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ก็จัดให้โลมาอิระวดีอยู่ในบัญชีตัวแดง (Red List)
โดยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต (Critically Endangered) โลมาอิระวดีถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 138
ลักษณะเด่นคือ หัวค่อนข้างกลม ไม่มีจงอยปาก เช่น โลมาอีกหลายชนิด สีลำตัวแปรเปลี่ยนไปตั้งแต่สีน้ำเงิน
เทาเข้มจนถึงน้ำเงินจาง โลมานี้จะรวมกลุ่มเช่นเดียวกับโลมาในมหาสมุทรแม้ว่าโลมาบางตัวสามารถอาศัยได้ในแม่น้ำที่จืดสนิทก็ตาม
มักพบโลมาอาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้นชายฝั่งในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค
รอบหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซีย ตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย และทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ชายฝั่ง
โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำได้แก่ บางปะกง ทะเลสาบสงขลา เจ้าพระยา เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของโลมาอิระวดี คือ มีครีบหลังรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็กปลายมน
พบในตำแหน่งที่ห่างจากจุดกึ่งกลางลำตัวค่อนไปทางหางมักมีสีเทาดำถึงสีเทาสว่าง ลำตัวมีความยาวประมาณ 275 เซนติเมตร
แต่เฉลี่ยแล้วมีความยาว 210 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 115 – 130 กิโลกรัม เป็นโลมาขนาดเล็ก
ว่ายน้ำโดยปกติค่อนข้างช้าและอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ เมื่อพิจารณาลักษณะภายนอกโลมาอิระวดี
มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับวาฬเบลูก้า (Beluga whale) หรือที่เรียกทั่วไปว่าวาฬมีฟัน (Toothed whale)
และยังมีรูปทรงคล้ายคลึงกับโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ตรงที่โลมาหัวบาตรหลังเรียบจะไม่มีครับหลัง(Finless porpoise)
แต่มีหัวกลมมนคล้ายกัน ทำให้บางครั้งมีความสับสนขึ้น ดังนั้นการดูง่ายๆ ก็คือโลมาอิระวดีมีครีบบนหลังหนึ่งอัน
และมีฟันแหลมอยู่บนขากรรไกรบน จำนวนเต็มที่ 40 ซี่และจำนวน 36 ซี่อยู่บนขากรรไกรล่าง
อุปนิสัยของโลมาอิระวดีมักอยู่รวมเป็นฝูงเล็ก แต่ละฝูงมีจำนวน 6 ตัวหรือน้อยกว่า ไม่ชอบปรากฏตัวให้เห็นตามผิวน้ำทะเล
แต่ชอบโผล่หัวขึ้นมา ที่ระดับผิวน้ำ ค่อนข้างขี้อายและหลบซ่อนตัว ลูกโลมาเกิดใหม่มีความยาวประมาณ 1 เมตร
มีน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัมหรือมากกว่า อาหารอันโอชะของโลมาเหล่านี้คือปลา กุ้งและปลาหมึก
บางครั้งช่วยเหลือชาวประมง โลมามีตา หู จมูก และลิ้นเหมือนคนเรา มันจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในที่โล่ง และน้ำตื้น
แต่เนื่องจากโลมาไม่มีตาอยู่ด้านหน้าจึงไม่สามารถกะระยะทางได้ดีนัก เมื่ออยู่ใต้น้ำจมูกของโลมาจะปิด ดังนั้นมันจะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย
แต่ลิ้นสามารถรับรสจากสารเคมีในน้ำได้ดี การรับเสียงด้วยคลื่นสะท้อนแบบเรดาร์ของโลมา
ใช้ล่าเหยื่อและรู้วัตถุหรือลักษณะภูมิประเทศใต้น้ำได้เป็นอย่างดีทั้งยังส่งเสียงสื่อสารกับโลมาตัวอื่นได้ด้วย





4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2010-9-29 12:55:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สำหรับคนที่อยากไปนะครับ ก็ช่วยเข้าไปอ่านในเฟสบุ๊คนี้หน่อยนะครับ

http://www.facebook.com/album.ph ... 32418562&ref=mf

http://www.facebook.com/note.php ... 88619475&ref=mf

เป็นข้อมูลที่ดีทีเดียวนะผมว่า

สำหรับผมเอง ถามว่าอ่านแล้วยังอยากไปไหม คำตอบคืออยากครับ
เพราะการที่จะได้ไปดูของจริงในทะเลมันคงจะดีกว่าที่จะต้องดูเขาในตู้กระจกเป็นไหนๆ
ขอแค่ได้เห็นไกลๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับผม

ซึ่งถ้าเราทุกคนรู้จักช่วยกันและปฏิบัติตามให้อยู่ในกรอบ เท่านี้ก็เพียงพอกับการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแล้วล่ะครับ

ปล. ไม่รู้จะโดนว่าหรือเปล่า โพสอย่างนี้แล้วเหมือนโพสเองตอบเองเลย แต่พอดีไม่สามารถลงทั้งหมดได้ในครั้งเดียว เลยต้องแบ่งเป็นส่วนๆ หวังว่าคงไม่ว่าอะไรนะครับ
ว้าวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อยากเห็นจัง งิงิงิ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้ที่ webdungdong@gmail.com|บริษัท ดั้งโด่งดอทคอม จำกัด|ติดต่อลงโฆษณา| ดั้งโด่งดอทคอม@2020

Copyright © 2001-2013 Comsenz Inc.   All Rights Reserved. Powered by Discuz! X3.2 R20140618, Rev.27, Thzaa City 1 Style

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้